ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ระบุว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เปลี่ยนไปมาก แต่การประมาณการรายได้ยังคงเดิม พร้อมคาดการณ์ว่ารัฐบาล โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้เท่ากับที่ประมาณการไว้ พร้อมแนะให้มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่
“ประมาณการรายได้ของปีงบประมาณ 2568 จัดทำมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ซึ่งขณะนั้น เราคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้าจะเก็บรายได้ 2.8987 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ดีถึง 3.2 - 3.6 และเรามีหนี้สาธารณะประมาณ 64% แต่เหตุการณ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปมาก เศรษฐกิจชะลอตัวลง คาดว่าจะโตได้เพียง 2.5% อีกทั้ง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 4% ส่งผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยตรง เราจึงไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้เท่ากับที่ประมาณการไว้ เห็นควรว่าต้องปรับลดงบประมาณลง”
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า “ยกตัวอย่างเช่นกรมสรรพสามิต ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะหลุดเป้าการจัดเก็บรายได้ ซ้ำรอยกับเมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา (ปี 2567) ที่ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ที่ 6 แสนล้านบาท แต่เก็บจริงได้เพียง 5.3 แสนล้านบาท เนื่องมาจากการปรับลดภาษีน้ำมัน การปรับลดภาษีรถยนต์อีวี และการจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่พลาดเป้าไป ในปี 2568 กรมสรรพสามิตตั้งเป้าเก็บรายได้ 6.09 แสนล้านบาท แต่ดูแล้วไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่รัฐบาลจะเก็บรายได้ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ หากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการอุดหนุนรถอีวี หรือปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่”
น.ส.ศิริกัญญา ได้แนะแนวทางเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาษีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นว่า “ควรต้องมีการปรับปรุงนโยบายภาษีบุหรี่ เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายจากบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเก็บภาษีบุหรี่ได้ตามเป้าเลย แต่ก็ยังไม่มีความก้าวหน้าเรื่องการปรับโครงสร้างและอัตราภาษี”
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - กรกฎาคม 2567) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยยอดการจัดเก็บภาษียาสูบ พบว่าในปีงบประมาณนี้จัดเก็บได้ 42,372 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 ราว 15,311 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตเคยเปิดเผยว่ากำลังพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ให้เหลือเป็นอัตราเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและเกิดประโยชน์กับทั้งรายได้รัฐ การแข่งขันที่เป็นธรรม และการดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีอัตราเดียวได้ผ่านการศึกษาและได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและการควบคุมการบริโภคยาสูบ
No comments:
Post a Comment