คำกล่าวที่ว่า กองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่เงิน กองทุนหมู่บ้านเป็นอะไรที่ใหญ่โต และมีคุณค่ามากกว่าเงินมากนักบัดนี้คำกล่าวดังกล่าวเริ่มเป็นจริงบ้างแล้วจากการดูงานตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจ ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ณ กองทุนหมู่บ้านสหกรณ์ 1 หมู่ที่ 3 ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาครนั้นพบว่า วันนี้ธุรกิจการทำนาเกลือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แตกต่างกับเมื่อ 10 ปีก่อนอย่างมากมาย จากการเปิดเผยของนายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์หมู่ 3 ตำบลโคกขาม และประธานกองทุนหมู่บ้านสหกรณ์ หมู่ 3 ตำบลโคกขามได้เล่าให้ฟังว่า ในปี 2554 เป็นปีที่ชาวบ้านทุกชีวิตที่ทำนาเกลือจดจำได้ดี จากวิกฤติราคาเกลือสมุทรตกต่ำเหลือเกวียนละ 500 บาทเท่านั้นเป็นปีที่เรียกได้ว่าเป็นทุกข์ยากของชาวนาเกลืออย่างแท้จริง หลังจากวิกฤตการคราวนั้น มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือและที่สำคัญคือมีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักเข้ามาดูแล ในปีนั้นทุกฝ่ายได้ร่วมกันคิดนำผลผลิตที่ได้จากเกลือมาต่อยอดแปรรูปเป็นเกลือสปาขัดผิว เพื่อแก้ไขวิกฤติราคาเกลือตกต่ำ ลองผิดลองถูกด้วยกันมา ตอนที่ทดลองใหม่ๆ จำได้ว่า แรกเริ่มนำดอกเกลือดิบมาผสมขมิ้นแล้วมาขัดผิวโดยตรง แต่พอนำมาขัดจริงๆมันบาดเนื้อ ทำให้ผิวแสบจึงไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงเกิดวิวัฒนาการนำดอกเกลือและส่วนผสมอื่นๆ มาปั่นให้ละเอียดก่อนนำไปขาย ปรากฎว่าประมาณอาทิตย์ สองอาทิตย์เครื่องปั่นก็พัง ทางสำนักงานเกษตรร่วมกับทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติก็เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันอีกครั้งเกี่ยวกับการซื้อเครื่องโม่แบบใช้ไฟฟ้าให้กับชาวบ้าน ทำให้ผลิตภัณฑ์ เกลือขัดผิวของเราเนียนขึ้น ประกอบกับส่วนผสมต่างๆ ที่เราใช้นั้นจะผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองว่าจะไม่มีปัญหากับผิวพรรณของมนุษย์ สินค้าที่ผลิตออกมาจึงเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว ในปี 2556 หลังจากวิกฤติราคาเกลือเพียง 2 ปีเท่านั้น ผลิตภัณฑ์เกลือขัดผิวของเรานั้นก็กลายเป็นสินค้าขายดีของจังหวัด นายเลอพงษ์ยังกล่าวอีกว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ผลิตภัณฑ์เกลือของชุมชนจะได้รับเครื่องหมาย อย. ซึ่งหลังจากได้รับเครื่องหมายนี้ก็จะทำให้สินค้าของเรานั้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีความหวังไกลไปถึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับการยอมรับทั่วไปพอฟังมาถึงตรงนี้ก็ได้แต่ประหลาดใจนะครับว่า อาชีพทำนาเกลือ อาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาเก่าแก่ของมนุษย์เกือบจะเลือนหายไปกลุ่มจากประเทศไทยเราแล้ว โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ชาวชุมชนนาเกลือทุกคนเข้มเข็ง และได้รับการโอบอุ้มจากภาครัฐอย่างตรงจุด ถูกที่ถูกเวลา
ทำให้กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้นได้ บ้านสหกรณ์โรงเรียนนาเกลือ ได้เป็นศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ สถานที่ท่องเที่ยว ให้ความรู้สำคัญของ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยผู้เรียนรู้หรือนักท่องเที่ยวจะได้รับการเรียนรู้ถึง 3 ฐาน ด้วยกัน
ฐานที่ 1 เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง ขบวนการขั้นตอนการผลิตเกลือทะเลทั้งหมดรวมทั้งคุณประโยชน์ของเกลือ ว่ามีอะไรบ้าง
ฐานที่ 2 สัมผัสพื้นที่จริง ชมดอกเกลือ พบกับการตกผลึกของเกลือ และเม็ดเกลือ
ฐานที่ 3 มาเรียนรู้ขั้นตอนการแปรรูป
นายเลอพงษ์ จั่นทอง ได้กล่าวยืนยันว่าทุกฐานการเรียนรู้จะมีความสนุกสนานได้รับความรู้อย่างเต็มเปี่ยม และที่สำคัญอยากให้ทุกคนมาเรียนรู้ว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ ชาวนาเกลือผ่านความยากลำบากอย่างไรมาบ้าง
ปัจจุบันสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น เกลือสปาแช่เท้า เกลือสมุนไพรขัดผิว เกลืออโรมา สบู่ และเกลือปรับอากาศ ให้สอดรับกับนโยบายและเตรียมความพร้อมสู่ Soft Power ของรัฐบาล
อีกหนึ่งกองทุนหมู่บ้านที่น่าสนใจ คือกองทุนหมู่บ้านนาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ได้นำขนมท้องถิ่น “ขนมกง”เกิดจากการทำขึ้นเพื่อถวายพระ ในงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาคร สู่เมนูที่ขึ้นชื่อเป็นของฝากที่ขาดไม่ได้ ที่ทุกคนชื่นชอบหากได้ลิ้มลองประวัติจริงๆของขนมที่มีลักษณะเป็นวงกลมและมีเส้นไขว้พาดกัน คล้ายล้อเกวียน ที่เรียกกันว่าขนมกงนั้นเชื่อกันว่ามีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานว่าคนในสมัยนั้นเชื่อว่าการทำรูปร่างของขนมกงให้เหมือนล้อเกียนนั้น เปรียบเสมือนกงล้อที่หมุนไปข้างหน้า เช่นเดียวกับพระธรรมจักร หรือกงล้อแห่งธรรม ที่ไม่มีวันดับสูญโดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาครขนมกงจึงเป็นเป็นขนมมงคลที่สำคัญ นอกจากจะเป็นขนมในพิธีแต่งงานแล้วยังเป็นขนมเซ่นไหว้ที่ขาดไม่ได้ในหลายงานประเพณีประจำปีของท้องถิ่นและที่งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาครที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์นี้ ขนมมงคลที่ชื่อว่าขนมกงนี้ตอนแรกมีวัตถุประสงค์ทำกันเพื่อถวายพระและขายเฉพาะช่วงงานประเพณีเพียงปีละครั้งเท่าเท่านั้น แต่ปรากฎว่าทุกปีที่พอใครได้ลิ้มลองก็ติดอกติดใจในรสชาติมียอดสั่งจองสั่งซื้อกันยกใหญ่
ชาวบ้านในกลุ่มบ้านนาโคก จึงได้มีแนวคิดที่จะทำขนมกงขายนอกเหนือเทศกาลเพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับตนเอง โดยการรวมกลุ่มของชาวบ้านไปกู้เงิน จากกองทุนหมู่บ้านจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นซึ่งไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันนี้สมาชิกได้มีการใช้เงินจำนวนนี้คืนให้กับกองทุนครบเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากประสบความสำเร็จในการขายสามารถทำกำไรกลับมาหมุนเวียนเป็นทุนอย่างไม่ต้องพึ่งพาใครอีกแล้วโดยขนมกงของกลุ่มบ้านนาโคกมีส่วนประกอบแบ่งเป็นสองส่วนคือ ชั้นในกับชั้นนอก ชั้นในก็คือตัวขนมกงที่ผสมด้วยข้าวตอก ถั่วเขียวซีก น้ำตาลมะพร้าวแท้ เมื่อนำส่วนผสมชั้นในมาบดโม่กวนจนแห้งแล้วค่อยคลึงเป็นเส้นแล้วขดแต่งเป็นรูปกง ตากทิ้งไว้หนึ่งคืน ชั้นนอกจะเรียกว่าแป้งชุบทอด แป้งชั้นนอกก็จะประกอบด้วยแป้งข้าวจ้าว กะทิ น้ำปูนใส การทอดก็ต้องใช้ไฟกลาง คอยแยกชิ้นไม่ให้ติดกัน ต้องทิ้งไว้ให้เย็นก่อนบรรจุ จะทำให้ ขนมกงคงความกรอบนาน เสร็จแล้วต้องท้าทายหากใครได้ลองชิมรับรองว่าต้องกลับมาซื้อใหม่แน่นอนและที่สำคัญนอกจากความอร่อยในรสชาติแล้ว ตลอดขั้นตอนการผลิตนั้นขนมกงกลุ่มบ้านโคกนาจะใช้คนในพื้นที่ซึ้งส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุทำให้สร้างรายได้สร้างกำลังให้ผู้สูงอายุใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
ทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน “ขนมกง” ให้สอดรับกับนโยบายและเตรียมความพร้อมสู่ Soft Power ของรัฐบาลด้วย
No comments:
Post a Comment