กยท. หนุนงบ 49(3) มอบเกษตรกรสวนยางต้นแบบฯ ติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อจัดการระบบน้ำในสวนยางแบบวนเกษตร ลดต้นทุน สร้างรายได้เสริมจากพืชแซมและปศุสัตว์
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายเกียรตินันท์ ยิ้นซ้อน ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย นำคณะเจ้าหน้าที่ กยท.จ.เชียงราย และสื่อมวลชน ลงพื้นที่สวนยางพาราของเกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรต้นแบบระดับสาขาและระดับจังหวัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีซ้อน ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางต้นแบบด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย โดยมีนางสาวชรินทร์ทิพย์ เชื้อเมืองพาน เจ้าของสวนยางพาราต้นแบบ และนายจัตุรัส กั้นสกุล เกษตรกรชาวสวนยาง ให้การต้อนรับ
นายจัตุรัส กั้นสกุล เกษตรกรชาวสวนยาง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่สวนยางมีประมาณ 30 ไร่ เป็นสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง และได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ กับ กยท. ตั้งแต่ปี 2558 โดย กยท. ได้จัดทำข้อมูลพื้นที่สวนยาง สามารถค้นหาพิกัดผ่านระบบ GIS รองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่ง กยท. มีนโยบายให้เกษตรกรชาวสวนยางทำการเกษตรแบบเกษตรกรรมยั่งยืน และสวนยางพาราแห่งนี้ ได้จัดการพื้นที่สวนยางพาราแบบวนเกษตร มีการขุดสระกักเก็บน้ำ และปลูกพืชแซมยางหลายชนิด เช่น โกโก้ กาแฟ ขิง ลองกอง เงาะ และกลุ่มพืชสมุนไพร รวมถึงการทำปศุสัตว์ ทั้งการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และเลี้ยงสัตว์น้ำ
“ผมได้รับการสนับสนุนระบบปั๊มโซล่าเซลล์สูบน้ำ มูลค่ารวม 100,000 บาท จาก กยท. เมื่อปี 2565 เพื่อใช้ในการทำการเกษตรภายในสวนยาง โซล่าเซลล์ที่ผมได้รับมา ผมประเมินว่าความคุ้มทุนอยู่ที่ 5 ปี และยังใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 20 ปีข้างหน้า”
นายจัตุรัส เล่าว่า ระบบโซล่าเซลล์สามารถนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางพาราได้ครบทุกมิติ ทั้งระบบปั๊มสูบน้ำ เพื่อใช้สำหรับยางพาราและพืชแซมยาง รวมถึงการปศุสัตว์ภายในสวนยาง เมื่อเพิ่มแบตเตอรี่บางส่วนแล้วสามารถใช้ปั๊มน้ำในการเติมน้ำในบ่อปลา 5-10 คิวบิกเมตร ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องเชื่อม และสามารถใช้เครื่องปรับอากาศ ขนาด 12,000 บีทียู ก่อนเวลา 24.00 น. ซึ่งตั้งแต่เริ่มใช้ระบบโซล่าเซลล์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กยท.มา ทำให้ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน ลดลงมาก จากเดิมที่เคยจ่าย 1,500 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 200 บาทต่อเดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาสวนยางพารา ทางกยท. ยังได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาสวนยาง ของนางสาวชรินทร์ทิพย์ รวมทั้งสิ้น 400,000 บาท เพื่อจัดการสวนยางให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1. ปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์เป็นศูนย์เรียนรู้ 2. ขุดลอกสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงสัตว์น้ำ 3. สร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ด-ไก่ไข่และจัดหาแม่พันธุ์ 4. อุปกรณ์ระบบเจาะแก๊ส/ติดหมวกต้นยาง 500 ชุด 5.แบตเตอรี่ในระบบโซล่าเซลล์ 6.ถังเก็บน้ำขนาด 3,000 ลิตร 7. กิจกรรมเลี้ยงกบ เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงแหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตร 8. ปลูกผักสมุนไพรและผักพื้นบ้านในสวนยาง ซึ่งปัจจุบันสวนยางต้นแบบของนางสาวชรินทร์ทิพย์ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรรายอื่น กลุ่มนักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจ ซึ่งมีบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่สวนยางแห่งนี้เป็นประจำ
ข้อมูลเพิ่มเติม
•สวนยางของนางสาวชรินทร์ทิพย์ ทำสวนยางแบบเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบวนเกษตร คือทำเกษตรกรรมในพื้นที่สวนยางที่เป็นลักษณะของ “ป่า” มีความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ บริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีการปลูกพืชแซมในสวนยาง เก็บผลผลิตมาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ มีการเลี้ยงสัตว์ ใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการเกษตร มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ภายในสวนยาง ขุดคลองไส้ไก่ขนาบบ่อ และเลี้ยงสัตว์น้ำ
•การจำหน่ายผลผลิตจากสวนยาง
- ยางพารา : จำหน่ายยางพาราในรูปแบบยางก้อนถ้วย โดยขายในตลาดยางพาราร่วมกับสหกรณ์ยางพาราแม่ลาว - แม่กรณ์ จำกัด และส่งผลผลิตให้ กยท. ภายใต้โครงการชะลอยางพารา (รูปแบบยางก้อนถ้วยแห้ง)
- กาแฟ : จำหน่ายเมล็ดสดให้โรงงานแปรรูป
- โกโก้ : จำหน่ายผลผลิตให้กับบริษัท
- ผลไม้ พืชสวนครัว พืชสมุนไพร และปศุสัตว์ในสวนยาง : บริโภคภายในครัวเรือน และจำหน่ายตลาดท้องถิ่น
- น้ำผึ้ง : จำหน่ายให้แก่พ่อค้าทั่วไป ได้ปริมาณ 150 ขวดต่อปี
No comments:
Post a Comment