วันนี้ (17 ส.ค.66) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่บึงสีไฟ จ.พิจิตร เพื่อติดตามการพัฒนาและเก็บกักน้ำ และติดตามการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งบึงสีไฟเป็นแหล่งน้ำสำคัญในผังน้ำลุ่มน้ำน่าน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 1 ใน 8 ของพื้นที่ชุ่มน้ำภาคเหนือที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าหลวง ต.โรงช้าง ต.คลองคะเชนทร์ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.พิจิตร มีพื้นที่ประมาณ 5,390 ไร่ และมีสภาพตื้นเขินบางส่วน โดยปัจจุบันมีการขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงสีไฟ ให้เป็นพื้นที่ชะลอและรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติผ่านคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 18 และในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 27 สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบันของ จ.พิจิตร มีแหล่งน้ำขนาดกลาง 1 แห่ง คือ บึงสีไฟ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 11.4 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 90.19 ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่า ปี 65 จำนวน 1.23 ล้าน ลบ.ม. จากการตรวจสอบไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ จากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการลงพื้นที่ บึงสีไฟสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 12.64 ล้านลูกบาศก์เมตร และการบริหารจัดการน้ำของบึงสีไฟ เพื่อรักษาระบบนิเวศและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ซึ่งมีแผนงานโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำบึงสีไฟเพื่อการเกษตรประมาณ 7,500 ไร่ ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์บึงสีไฟให้สวยงามนั้น ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตรและเทศบาลเมืองพิจิตร “พื้นที่ลุ่มน้ำน่านในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่น้ำท่วม อยู่ในรหัสโซนพื้นที่ทางน้ำหลาก และบางส่วนอยู่ในรหัสโซนพื้นที่น้ำนอง ซึ่ง สทนช. เสนอแนะให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ป้องกันการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำ หรือกีดขวางการไหลของน้ำ เว้นแต่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดไว้เป็นเขตชุมชน เขตอุตสาหกรรม และเขตพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามผังเมืองรวม นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้อยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือ กีดขวางทางระบายน้ำรวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ ไม่มีสิ่งกีดขวางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะนี้การจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำน่าน ได้ดำเนินการปรับปรุงตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วเสร็จ และจะนำไปรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้ายต้นเดือนกันยายน 2566”
No comments:
Post a Comment