นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และที่ปรึกษาโครงการ From Gen Z to be CEO กล่าวว่า “การมาเข้าหลักสูตรอย่าง From Gen Z to be CEO เราคิดว่าเป็นการปูพื้นฐานด้านการค้าระหว่างประเทศให้น้องๆ เด็กรุ่นใหม่ทุกคน เราพัฒนาเขาได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสของเขาก็จะมากเท่านั้น โดยไม่ต้องมีเส้นแบ่งว่า คุณจะมาได้รับการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเมื่อไหร่ และนี่คือข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดว่า เด็กรุ่นใหม่ ขณะที่ยังเรียนอยู่ ก็เป็น CEO ได้แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้คือคำตอบที่หลักสูตรนี้น่าจะตอบโจทย์ได้ชัดที่สุด" กิจกรรมในครั้งนี้ มีน้องๆ GEMs Z : GEN Z ที่ได้เข้าร่วมโครงการและรับคำปรึกษาด้านธุรกิจกับผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งหมด 8 รายสินค้า
นายกุสมาน ยูโซ๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เจ้าของผลิตภัณฑ์กรือโป๊ะโปรตีนหอยเชอรี่ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการว่า “มาเข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากเพิ่มพูนความรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงโอกาสในการนำโปรเจกต์ของเราไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อตีตลาดในต่างประเทศ ซึ่งตรงกับโครงการนี้ที่ให้ความรู้เรื่องการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ และจากการเข้ามารับคำปรึกษาทำให้ได้ความรู้เรื่องการส่งออกเยอะมากและละเอียดมาก เช่น เรื่องการขอใบรับรองเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศและหลักการของแต่ละประเทศที่มีเกณฑ์แตกต่างกัน ก่อนหน้านี้เราเคยศึกษาเองแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่พอได้มารับคำปรึกษาแล้ว ทำให้เราเข้าใจได้อย่างดีมาก ต้องขอขอบคุณโครงการ From Gen Z to be CEO ที่ให้โอกาสเข้ามารับคำปรึกษา และจะพยายามทำเป้าหมายเรื่องการส่งออกให้สำเร็จต่อไปค่ะ”
นางสาวบุญฑริกา พลเยี่ยม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตข้าวเกรียบน้ำพริกคณาศรี กล่าวว่า “ปัจจุบันทำโปรเจกต์ร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียนเดียวกัน คือ ข้าวเกรียบน้ำพริกคณาศรีเสริมแคลเซียมและใยอาหารจากปลานิล ผสมผสานรสชาติของน้ำพริกคณาศรีรสเด็ดจากจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับโอกาสจากโครงการนี้ให้นำสินค้าของเราเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับคำแนะนำต่างๆ เยอะมากค่ะ ซึ่งมีทั้งจุดอ่อนที่เราคิดไว้อยู่แล้ว และยังมีอีกหลายส่วนที่เรายังคิดไม่ถึง แต่ท่านที่ปรึกษาสามารถมองเห็นจุดบกพร่องเหล่านั้น และให้คำแนะนำกับเรา และที่ประทับใจมากๆ คือ คำแนะนำเรื่องการส่งออกสินค้าของเรา ทำให้มั่นใจว่าโปรเจกต์ของเราดูเป็นความจริงมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณท่านที่ปรึกษาและโครงการ From Gen Z to be CEO ที่ให้โอกาสและเราจะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าของเราอย่างแน่นอนค่ะ และน้องๆ ที่สนใจอยากมีธุรกิจของตัวเองแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ให้ลองเข้ามาเริ่มต้นกับโครงการนี้ หรือคนที่มีธุรกิจอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะไปทางไหนหรือยังไม่มีตลาดในการวางแผนธุรกิจของตัวเอง โครงการนี้จะช่วยตอบโจทย์และทำให้ธุรกิจของเราเป็นจริงมากยิ่งขึ้นค่ะ เพราะจากที่พี่ได้ลองมาแล้ว มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ค่ะ”
นายจิราธิวัฒน์ ซาเสน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเจลลี่โปรตีนจิ้งหรีด กล่าวสั้นๆ ว่า “ผลิตภัณฑ์เกิดจากแรงบันดาลใจจากการเห็นถึงประโยชน์ของแมลงที่จะเป็นอาหารแห่งอนาคต จนเกิดเป็นเยลลี่โปรตีนจิ้งหรีด ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ต้องการอาหารเสริมโปรตีน โดยจากที่นำผลิตภัณฑ์เข้ามาขอรับคำแนะนำเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ท่านที่ปรึกษาโครงการมีความเชี่ยวชาญและให้ข้อมูลเยอะมากๆ ต้องขอขอบคุณทางโครงการ From Gen Z to be CEO มากๆ สำหรับโอกาสในครั้งนี้ สำหรับเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่อยากมีธุรกิจของตัวเองก็เริ่มต้นคิดและเริ่มต้นทำได้เลย หากยังไม่รู้แนวทางก็ให้หาโอกาสจากการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ อย่างโครงการ From Gen Z to be CEO ที่เปิดโอกาสให้ได้เข้ามาเรียนรู้ได้ไปทีละขั้นตอน ได้เรียนรู้สิ่งที่ในห้องเรียนไม่ได้สอนอีกมาก”
นางสาวประภาทิพย์ ศรีดวงแก้ว นักศึกษาชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำพริกน้ำปูแปรรูป เล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ว่า “น้ำปูเป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือ แต่เนื่องจากน้ำปูสดจะมีอายุไม่นานหลังเปิดบรรจุภัณฑ์ จึงมีการใช้เทคโนโลยีการสกัดแปรรูปเป็นผงให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นานยิ่งขึ้น และเพื่อให้สามารถพกพาสะดวกยิ่งขึ้น โดยทำร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยชุมชนให้มีรายได้ ตนเองเข้ามาช่วยพัฒนาในส่วนของการตลาดและบรรจุภัณฑ์ ตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ From Gen Z to be CEO ได้เรียนรู้หลักสูตรจนครบ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจ ได้เรียนรู้เรื่องการส่งออกไปยังตลาดในหลายๆ ประเทศ ว่าเราสามารถส่งออกไปยังที่ใดได้บ้างและขั้นตอนวิธีการควรทำอย่างไร และควรจัดทำผลิตภัณฑ์ของเราให้เหมาะสมกับประเทศต่างๆ ที่เราจะส่งออก ช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ รวมไปถึงการติดต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย ซึ่งเป็นความรู้ที่ละเอียดมากๆ คุ้มค่ามากๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ค่ะ”
นายธีรดนย์ ศรีสุข ศิษย์เก่าคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ และนำไปขายในรูปแบบ NFT กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของการเริ่มทำ NFT เนื่องจากได้มีโอกาสเข้าโครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2565 และเรียนหลักสูตรที่ชื่อว่า สินค้าและบริการศักยภาพแห่งอนาคต (Products and Services of the Future) สอนโดยคุณอิสระ ฮาตะ โดยเป็นหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับสินค้าและบริการในอนาคต ทำให้ตนเกิดแรงบันดาลใจในการทำ NFT ประกอบกับการที่ชอบวาดรูปและออกแบบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ลองทำ NFT จนเกิดเป็นผลงานที่ชื่อว่า Cuddly Pybara โดยใช้ช่องทาง Twitter เป็นช่องทางหลักในการโปรโมท และได้มีการวางจำหน่ายแล้วที่แพลทฟอร์ม OpenSea โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกครับ ซึ่งตนมองว่า การอบรมในครั้งนี้ได้จุดประกายให้ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ และจากการที่ได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาของโครงการ ตนก็ได้ไอเดียในการผลิตผลงาน NFT เพื่อให้สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่สนใจได้มากขึ้น” และนี่คือเสียงจาก CEO รุ่นใหม่ GEMs Z GEN Z โดยน้อง ๆ เหล่านี้จะนำผลิตภัณฑ์ของตนมาแสดงภายในงานพิธีสรุปผลโครงการที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 ณ ห้อง Grand Hall ชั้น 3 อาคาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค (West) สุขุมวิท 101 โดยพิธีดังกล่าวจะถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไทยรัฐออนไลน์”
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 ได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/nea.ditp/
No comments:
Post a Comment